หุ้น ZIGA มาดูกันว่าเขาทำอะไร ทำไมงบออกมาดี

ในช่วงที่ผ่านมานั้นคงไม่มีหุ้นตัวไหนใน LikeStock25 Index จะร้อนแรงไปกว่า หุ้น ZIGA ผู้ผลิต และจัดจำหน่าย เหล็กโครงสร้าง และท่อร้อยสายไฟประเภท Pre Zinc

ซึ่งวันนี้เราจะมาวิเคราะห์เจาะลึกถึง โครงสร้าง ทางธุรกิจของบริษัทแห่งนี้กันว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร และอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้ ผลประกอบการ ของบริษัทออกมาเป็นที่น่าพอใจในช่วงขวบปีที่ผ่านมา

โดยบทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำ หุ้น แต่อย่างใด เพียงต้องการนำ โมเดลธุรกิจ มาเป็นกรณีศึกษาในการวิเคราะห์หุ้นด้วย ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) เท่านั้น

In Focus

ขยายโรงงาน และคลังสินค้า

ปี 2560 มีการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI เพื่อระดมทุนสร้าง โรงงาน และคลังสินค้าใหม่ ที่จากเดิมเคยมีปัญหาคอขวดไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการของลูกค้า ด้วยเหตุจากไม่มีพื้นที่จัดเก็บ

จนกระทั่ง โรงงานใหม่ และคลังสินค้า แล้วเสร็จในปี 2562 จึงทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตจาก 5 หมื่นตัน/ปี เป็น 1.1 – 1.2 แสนตัน/ปี เป็นปัจจัยสำคัญส่งผลบวกต่อผลประกอบการของบริษัทในเวลาต่อมา

เจาะกลุ่ม B2C มากขึ้น

บริษัทหันมามุ่งเน้นทำธุรกิจแบบ B2C (Bussiness to Customer) ขายของให้ผู้ใช้ (End User) โดยตรงมากขึ้น ไม่เน้นขายแบบ B2B (Business to Business) เหมือนในอดีต
แต่เน้นขายสินค้าที่มีกำไร เช่น เหล็กโครงสร้างแบบกลม และ Product Mix ผ่านร้านค้า Outlet ซึ่งส่งผลดีต่อกำไรที่มากขึ้น

ราคาเหล็ก

ราคา เหล็ก ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของบริษัท ในช่วงที่ผ่านมานั้น ราคา มีการปรับลดลงมาจากภาวะเศรษฐกิจทำให้ ต้นทุน ในส่วนนี้ลดลงไปด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวก ของบริษัท

ประวัตย่อ และจุดเปลี่ยนสำคัญ ของ หุ้น ZIGA

  • ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2541 ในชื่อ จิตรเจริญโปรเกส ผลิตท่อโค้ง และท่อร้อยสายไฟแบรนด์ Daiwa
  • ปี 2553 เริ่มผลิตเหล็กโครงสร้าง Pre Zinc แบรนด์ Ziga

จุดเปลี่ยนสำคัญ

  • ปี 2560 เหมือนเป็น จุดเปลี่ยน ของบริษัทอย่างแท้จริงเมื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ทุนจดทะเบียน 260 ล้านบาท
    เพื่อระดมทุน สร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร และสร้างคลังสินค้า ด้วยงบประมาณ 385 ล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. สร้างโรงงาน และซื้อเครื่องจักร 350 ล้านบาท

  • เครื่องตัดม้วนเหล็ก ซึ่งจากเดิมต้องว่าจ้างบริษัทภายนอกเป็นผู้ผลิตให้ จึงทำให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้
  • เพิ่มสายการผลิต ท่อเหล็ก เพิ่มขึ้น 1 สายการผลิต
  • ในโรงงานใหม่ใช้เป็นพื้นที่บริหารจัดการ ม้วนเหล็ก ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก

2. คลังสินค้า 35 ล้านบาท

  • ซื้อพื้นที่ใกล้เคียงโรงงานเดิม 1 ไร่ 98.4 ตารางวา 23 ล้านบาท
  • อาคารสาธารณูปโภค 12 ล้านบาท

ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทมีปัญหา คลังสินค้า ไม่สามารถจัดเก็บสินค้า ที่ผลิตเสร็จแล้วได้เพียงพอ เป็นอีกหนึ่ง อุปสรรค ที่ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถเดินสายการผลิตเต็มกำลังได้

ซึ่งบริษัทจะให้เงินทุนจาก 2 แหล่ง คือ IPO 50% กู้สถาบันการเงิน 50%

  • ปี 2561 บริษัทได้เริ่มดำเนินตามแผนการสร้าง โรงงาน และคลังสินค้า
    แล้วเสร็จในปี 2562 และเปิดใช้งานในปีดังกล่าวเลย ทำให้สามารถแก้ปัญหา สินค้าคงคลัง
    สามารถเพิ่มกำลังการผลิตจาก 5 หมื่นตันต่อปี เป็น 1.1 – 1.2 แสนตัน ต่อปี

ลักษณะการประกอบธุรกิจของ หุ้น ZIGA

Ziga นั้นเป็นผู้ผลิตเหล็ก ปลายน้ำ ซึ่งเป็นการนำเหล็กมาแปรรูปในขั้น ทุติยภูมิ หรือขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งทำให้เหล็กมีรูปทรง และคุณสมบัติตามต้องการ เช่น การรีดเย็น การเชื่อม การชุบสังกะสี
ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ประกอบการ เหล็ก ในลักษณะนี้มากกว่า 100 ราย

สินค้า และบริการ

แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆได้ดังนี้

หุ้น ZIGA

1. Steel

1. เหล็กโครงสร้าง Pre Zinc แบรนด์ Ziga ซึ่งเหมาะสำหรับงานโครงสร้างที่รับน้ำหนักได้ไม่มาก ซึ่งแยกย่อยออกเป็น 3 ชนิด

  • เหล็กกลม จะมีขนาดตั้งแต่ ½ นิ้ว ถึง 5 นิ้ว
    นำไปใช้ตั้งแต่ทำราวบันได เต็นท์ นั่งร้าน จนถึง งานโครงสร้าง โรงเพาะชำ คอกสัตว์ สเตเดียม
    ซึ่งหาก เศรษฐกิจดี มีกิจกรรม จัดงานมหกรรมต่างๆ สินค้าในกลุ่มนี้จะได้อานิสงค์ในทิศทางบวก
  • เหล็กแบน นิยมใช้กับงาน โครงหลังคา หรือคานเหล็ก
  • เหล็กตัวซี นิยมใช้ทำแปหลังคา

2. ท่อร้อยสายไฟ Pre Zinc แบรนด์ Daiwa ช่วยป้องกันความเสียหายของสายไฟจาก การกระแทก และสารเคมี

2. Non Steel

  • ร้านค้าสำเร็จรูปโมดูลาร์ (Modular)
  • เหล็กเชื่อมกัลป์วาไนซ์
  • สีทาเหล็กกัลป์วาไนซ์

ซึ่งสินค้าในกลุ่มนี้จะมีกำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) สูงกว่ากลุ่มเหล็ก

Value Proposition

  • ลดต้นทุน ให้ผู้ใช้ไม่ต้องทาสีกันสนิมเพิ่ม
  • มีความทนทาน มีอายุการใช้งานมากกว่าเหล็กทั่วไป
  • ความรวดเร็วในการนำไปใช้งาน ไม่ต้องทาสีเพิ่ม เชื่อม และเก็บรอยได้เลย

แต่หากเราลองมา วิเคราะห์ เพิ่มเติมกันสักนิดว่าบริษัทจะสามารถรักษา จุดแข็ง ตรงนี้ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน เพราะคงไม่ใช่การยากที่บริษัทอื่นๆในอุตสาหกรรมเดียวกันจะสามารถเลียนแบบสินค้าเรือธงของ Ziga ได้

จึงมีเครื่องหมายคำถามเล็กๆว่า หากในอนาคตมีเหล็ก Pre Zinc ออกมาจากเจ้าอื่น บริษัทจะสามารถ ปรับตัว และรักษาผลประกอบการที่ดีเฉกเช่นช่วงเวลานี้ไว้ได้หรือไม่

กลุ่มลูกค้า

เหล็กโครงสร้าง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

1. ลูกค้าขายส่ง (Wholesaler) มีสัดส่วนเป็น 81% ของรายได้

หุ้น ZIGA
  • ตัวแทนจำหน่าย (Distributor)
  • ร้านค้าปลีก (Retail Shop) จะตั้งอยู่ใน ไดนาสตี้ ไทล์ท็อป ในรูปแบบร้านค้า Outlet
  • ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) DOHOME ไทวัสดุ

ในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนว่า Ziga จะให้ความสำคัญกับการขายแบบ B2C (Business to Customer) มากขึ้น ซึ่งเป็นการขายให้กลุ่มผู้ใช้งานโดยตรง
เนื่องจาก ส่งผลดีต่อ กำไร มากกว่าการทำธุรกิจแบบ B2B (Business to Business) ซึ่งเป็นการเน้นขายจำนวนมาก ให้กลุ่มตัวแทนจำหน่าย หรือโครงการใหญ่ๆ
ซึ่งเป็นอีกปัจจัยบวกที่ทำให้บริษัทมี อัตรากำไร ที่ดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา

2. ลูกค้าขายปลีก (Retailer) มีสัดส่วน 0-15% ของรายได้ ลูกค้ากลุ่มนี้จะมาซื้อสินค้าจากบริษัทโดยตรง

ท่อเหล็กร้อยสายไฟ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

หุ้น ZIGA

1. ลูกค้าขายส่ง (Wholesaler)

เป็นผู้รับเหมา (Contractor) ซึ่งซื้อท่อเหล็กเพื่อใช้ทั้งโครงการสัดส่วน 50% – 98% ของรายได้ในกลุ่มนี้

  • ผู้รับเหมาโครงการ ซึ่งมีโครงการใหญ่เป็นลูกค้า เฃ่น Life สาทร Ascott ทองหล่อ Siam Premium Outlet
  • ร้านค้าที่ขายสินค้าให้ผู้รับเหมา เช่น ไดนาสตี้ DOHOME ไทวัสดุ

2. กลุ่มขายปลีก (Retailer)

มักเป็นร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งลูกค้า คือ ผู้รับเหมารายเล็ก ช่างไฟตามบ้าน

สัดส่วนรายได้ หุ้น ZIGA

  1. เหล็กโครงสร้าง Ziga 85.64%
  2. ท่อเหล็กร้อยสายไฟ Daiwa 14.36%
  3. รายได้อื่น เช่น ร้านค้าสำเร็จรูปโมดูลาร์ (Modular) และสินค้า Non Steel

ต้นทุน และแหล่งวัตถุดิบ

วัตถุดิบหลักที่ต้องนำมาใช้ในการผลิตส่วนใหญ่ คือ เหล็ก (Steel) และซิงค์ (Zinc) ซึ่งมีราคาซื้อ-ขาย อ้างอิงกับตลาดโลก
จึงทำให้เกิดความผันผวนของราคาวัตถุดิบอยู่ตลอดเวลา หากวัตถุดิบในการผลิตมีการปรับตัวสูงขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตนั้นสูงตาม ส่งผลต่อ อัตรากำไร ของบริษัทนั้นจะผันผวนตามราคาวัตถุดิบไปโดยปริยาย

ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับอานิสงค์จาก ราคาวัตถุดิบ ที่ปรับตัวลดลงจากทิศทางเศรษฐกิจที่หดตัว จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกที่คอยหนุน ผลประกอบการ ในช่วงขวบปีที่ผ่านมาให้ออกมาเป็นที่น่าพอใจ

อีกหนึ่งปัจจัยที่ควรติดตาม คือ บริษัทมีการนำเข้าเหล็กจาก ประเทศจีน เพียงแหล่งเดียว เป็นสัดส่วน 100% ถึงแม้บริษัทจะเสนอแนวทางจัดการกับความเสี่ยงตรงนี้ไว้โดยมีรายละเอียดดังนี้
บริษัทมี Supplier สำรองไว้มากกว่าหนึ่งเจ้าทั้งใน และต่างประเทศ

แต่การพึ่งพิง Supplier เพียงแหล่งเดียวก็ยังคงมีความเสี่ยงสูง หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดในอนาคต จุดนี้จึงเป็นจุดที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด

งบการเงิน หุ้น ZIGA

ปี 2560  รายได้  882.23 ล้านบาท  GPM 22.96 %   กำไร 131.68 ล้านบาท  NPM 14.47 %

ปี 2561  รายได้  841.14 ล้านบาท  GPM 11.09 %   กำไร  45.56 ล้านบาท  NPM 4.89 %

ปี 2562  รายได้  760.16 ล้านบาท  GPM  9.91 %    กำไร  35.26 ล้านบาท  NPM 4.43 %

ปี 256รายได้  972.23 ล้านบาท  GPM 20.56 %   กำไร 117.71 ล้านบาท  NPM 11.82 %

  • GPM และ NPM มีความผันผวนจากราคา วัตถุดิบหลักในการผลิต คือ เหล็ก ที่ราคา ขึ้น-ลง อิงกับตลาดโลก
  • GPM ในปี 2020 ดีขึ้นจาก Product Mix และ Product ที่กำไรสูงโดยเฉพาะ เหล็กโครงสร้าง แบบกลม
  • NPM ก็มีความผันผวนตาม แต่บริษัทเคลมว่ากำลังแก้ไขในจุดนี้โดยการสร้างแบรนด์ มุ่งขายสู่ผู้ใช้ (End User) มากขึ้น
  • ไม่สามารถรักษาอัตรากำไรให้สม่ำเสมอได้ เพราะ ค่อนข้างเป็นวัฏจักร (Cycle)
  • เงินสดเยอะ 197.14 ล้านบาท , D/E 0.74 เท่า , ปันผลมากกว่า 50% ของกำไรสุทธิ

แผนการเติบโต หุ้น ZIGA

  • ขยายโรงงานปี 64 เพื่อรองรับการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีแผนใช้เงิน 150 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการผลิตจาก 1.1 แสนตัน เป็น 1.2 แสนตัน
  • เพิ่ม Outlet ปีละ 60 สาขา ทั้งนี้บริษัทบอกว่าไม่ได้มีเพียงแค่สาขาใน ไดนาสตี้ ไทล์ท็อป เท่านั้นแต่ยังมี Partner รายอื่นๆที่ยังไม่เปิดเผยด้วย
  • New S-Curve จะไปมุ่งเน้นธุรกิจ B2C ตั้งเป้า 3 ปี จะเป็นสัดส่วนรายได้ 50% จากการดำเนินงาน ซึ่งในส่วนนี้นั้นส่งผลดีต่อกำไรมากกว่า ธุรกิจ B2B ซึ่งสินค้าจาก โรงงานใหม่ จะมุ่งเน้นป้อนสู่หน้ร้านของธุรกิจ B2C มากขึ้น

ความเสี่ยง หุ้น ZIGA

  • พึ่งพิง Supplier เพียงเจ้าเดียว จาก ประเทศจีน
  • ราคาวัตถุดิบ เหล็ก (Steel) สังกะสี (Zinc) มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา
  • ค่าเงิน ต้องซื้อ วัตถุดิบ เป็นสกุลเงิน ดอลลาร์
  • ดอกเบี้ยผันผวน
    บริษัทมีหนี้สินภายใต้สัญญาทรัสต์์รีซีท 287.81 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7.92 ล้านบาท
    เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 360 ล้านบาท ดอกเบี้ย 12.23 ล้านบาท
    หากอัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวขึ้นย่อมส่งผลเสียต่อบริษัท
  • พึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่ บริษัทมีลูกค้ารายใหญ่ซึ่งเป็น 27% – 30% ของรายได้

โดยสรุปจะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ทำให้ ZIGA นั้นมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น มาจากทั้งปัจจัยภายใน และภายนอกของบริษัท

ปัจจัยภายใน มาจาก 1. การขยายโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และคลังจัดเก็บสินค้า
2.การมุ่งเน้นทำธุรกิจแบบ B2C เพิ่มอัตรากำไร
ปัจจัยภายนอก คือ ราคาเหล็ก ที่ปรับตัวลดลง จึงต้องคอยติดตามสถานการณ์ราคาเหล็กในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด ว่าจะมีผลกระทบกับบริษัทมากน้อยเพียงใด เพราะดูเหมือนว่าในช่วงปี 2561-62 ราคาเหล็กจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตรากำไรของบริษัทมีการปรับตัวลดลงมา จึงต้องมาดูกันว่าบริษัทจะมีแนวทางแก้ไขในส่วนนี้อย่างไร และจะทำออกมาเป็นรูปธรรมแค่ไหน เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบริษัทมีความเป็นวัฏจักรอยู่พอสมควร

สุดท้ายนี้ทางเราหวังว่า บทความนี้ที่นำผู้อ่านไปรู้จักกับ บริษัทผลิตเหล็ก และอุตสาหกรรมเหล็กโดยสังเขป จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านไม่มากก็น้อยนะครับ แล้วพบกันใหม่บทความหน้า ขอบคุณครับ

แอด Line มีของแจก ฟรี!!!

Line id : @MrStock
? Line : https://MrStock.me/line/
( คลิก ที่ลิ้งค์เพื่อแอดเพื่อนได้เลย)