หุ้น HTC ผู้ผลิตน้ำดำของไทย ที่เราเป็นเจ้าของได้ ผ่านการถือหุ้น
หุ้น HTC คือ ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำอัดลมแบรนด์ โคคา-โคลา เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกิจการได้ ผ่านการถือหุ้น เพราะหุ้น คือ สิทธิในความเป็นเจ้าของธุรกิจตามสัดส่วนที่เราลงทุน
HTC หรือ บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) ทำธุรกิจ ผลิตน้ำอัดลม ที่ได้รับลิขสิทธิ์จากโคคา-โคลา คัมปะนี (ประเทศสหรัฐอเมริกา) ให้ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ “โคคา-โคลา” “แฟนต้า” “สไปรท์” และอื่น ๆ โคคา-โคลา คัมปะนี ที่เป็นเจ้าของ
หุ้น HTC และแหล่งที่มาของรายได้
รายได้หลักมาจากการขาย น้ำอัดลม และน้ำไม่อัดลม (non-carbonate) โดยขอบเขตการผลิตและจำหน่ายอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ รวม 14 จังหวัด ดังนี้ สงขลา สตูล ยะลา ชุมพร ระนอง กระบี่ ภูเก็ต พังงา ตรัง พัทลุง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี และนราธิวาส
- ผลิตภัณฑ์น้ำอัดลม คิดเป็นประมาณ 90% ของรายได้ทั้งหมด ได้แก่ โค้ก แฟนต้า และสไปรท์
- ผลิตภัณฑ์น้ำไม่อัดลม ได้แก่ น้ำผลไม้มินิทเมด และน้ำดื่มน้ำทิพย์
ลูกค้าของ HTC คือใคร
ลูกค้าแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ
- กลุ่มดั้งเดิม เช่น ร้านของชำ สถานบันเทิง โรงแรม รถเข็น
- กลุ่มร้านค้าส่ง เช่น ร้านขายส่ง แม็คโคร
- กลุ่มร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น Lotus’s บิ๊กซี ท็อปส์ 7-eleven
ช่องทางการจัดจำหน่ายของ บ.หาดทิพย์
- จำหน่ายโดยตรง เช่น ขายโดยรถขาย ขายล่วงหน้า ขายทางโทรศัพท์
- ผ่านตัวแทนจำหน่าย เช่น ผ่านร้านค้าส่ง ขายผ่านลูกค้าแม็คโคร
- ผ่านลูกค้า Modern Trade เช่น เทสโก้โลตัส บิ๊กซี ร้านสะดวกซื้อ แต่ไม่รวมแม็คโคร
โรงงานและกำลังการผลิต
HTC มีโรงงานผลิตอยู่ 2 โรงงาน คือ ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยที่โรงงานทั้งสองมีกำลังการผลิตที่ใช้ไป ในภาพรวมประมาณ 70% ขึ้นอยู่กับขนาดบรรจุของสินค้า
บริษัทย่อยของ หุ้น HTC ทำอะไรบ้าง
HTC ถือหุ้นใน บริษัท เซ้าเทิร์น ร็อคส์ จำกัด สัดส่วน 99.99% โดย เซ้าเทิร์น ร็อคส์ ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายขวดพลาสติกกึ่งสำเร็จรูปและขวดพลาสติก และรับจ้างเป่าขวดพลาสติก ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI
อ่านบทความเกี่ยวกับ BOI สิทธิประโยชน์ทางภาษี เกี่ยวข้อง กับ หุ้น อย่างไร
วัตถุดิบสำหรับการผลิต มีอะไรบ้าง
- หัวน้ำเชื้อ (Concentrate) ประมาณ 27% ของมูลค่าการสั่งซื้อวัตถุดิบทั้งหมด
- น้ำเชื่อม ประมาณ 22% ของมูลค่าการสั่งซื้อวัตถุดิบทั้งหมด
- ก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 0.75% ของมูลค่าการสั่งซื้อวัตถุดิบทั้งหมด
- สารเคมี ประมาณ 0.29% ของมูลค่าการสั่งซื้อวัตถุดิบทั้งหมด
- บรรจุภัณฑ์ เช่น ฝาจีบ ฝาเกลียว ฝา/กระป๋อง หลอด ขวดแก้ว ฉลาก และ กล่อง เป็นต้น ประมาณ 49% ของมูลค่าการสั่งซื้อวัตถุดิบทั้งหมด
ซึ่งสัดส่วนวัตถุดิบมาจากในประเทศประมาณ 89% และจากต่างประเทศประมาณ 11%
ความเสี่ยงของ หุ้น HTC
ปัจจัยเสี่ยงด้านการตลาด
- น้ำอัดลมเป็นสินค้าตามฤดูกาล ที่มีความต้องการสูงในฤดูร้อน อาจทำให้บริษัทผลิตสินค้าไม่ทัน และอาจเหลือกำลังการผลิตในฤดูอื่น
- การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น เครื่องดื่มประเภทอื่น หรือ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
- ข้อจำกัด เรื่องขอบเขตการจำหน่าย มีเพียง 14 จังหวัดภาคใต้ ในขณะที่คู่แข่งมีทั่วประเทศ และเสียเปรียบเรื่องต้นทุน
ปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเงิน
ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากมีการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรเป็นครั้งคราว แต่บริษัทก็มีการทำ สัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อป้องกันความเสี่ยง
ปัจจัยความเสี่ยงที่เกิดจากนโยบายของรัฐ
เช่น การเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม ที่เรียกเก็บตามระดับค่าความหวาน
ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือการลงทุนของผู้ถือหลักทรัพย์
เนื่องจากสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ของ หุ้น HTC ประกอบด้วย ครอบครัว รัตตกุล (ถือหุ้น 35.57%) และ GUTSCHE FAMILY INVESTMENTS (PROPRIETARY) LIMITED (ถือหุ้น 24.16%) ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในประเทศแอฟริกาใต้
เมื่อรวมสัดส่วนของทั้งสองได้ประมาณ 59.73% ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด
ซึ่งหมายความว่า ทั้งสองสามารถควบคุมมติที่ประชุมได้เกือบทั้งหมด เช่น เรื่องการแต่งตั้งกรรมการ การขอมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ยกเว้นในเรื่องที่กฎหมายกำหนดว่าต้องใช้คะแนนเสียง 3 ใน 4
มุมมองความคิดของผู้บริหาร หุ้น HTC
ปัจจุบันบริษัทบริหารงานโดย พลตรี พัชร รัตตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทายาทรุ่นที่ 2
โดยผู้บริหาร ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในองค์กร เช่น การสร้างความเป็นผู้นำให้พนักงาน ให้สามารถตัดสินใจในขอบเขตที่ตัวเองรับผิดชอบได้
ส่งเสริมให้มีกิจกรรมเพื่อสังคม โดยมีแนวคิดว่า ถ้าชุมชนอยู่ได้ หาดทิพย์ก็อยู่ได้ เช่น ช่วยเหลือชุมชน เมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือ ภัยแล้ง
นำนวัตกรรม หรือ ระบบหลังบ้าน ที่เป็น digital มาใช้มากขึ้น เช่น การทำการขายผ่านแท็บเล็ต สำหรับการจำหน่ายโดยตรง เมื่อผู้ขนส่งไปส่งที่ร้านค้า
สำรวจพฤติกรรมของลูกค้าอยู่เสมอ แล้วตอบสนองความต้องการให้ตรงจุด เช่น ขวดแบบฝาเกลียว เหมาะกับยุคที่นิยมความรวดเร็ว ที่สามารถเปิดดื่มและเก็บต่อได้
และยังให้ข้อคิดว่า
อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง ต้องรับรู้และปรับเปลี่ยน คิดวางแผน
การอยู่อย่างมีความหมาย ไม่ใช่มุ่งแต่จะสร้างกำไรอย่างเดียว คือคุณค่าที่พนักงานทุกคนล้วนภาคภูมิใจ
ที่มา บทสัมภาษณ์ อายุน้อยร้อยล้าน EP.140 (COFFEE WITH CEO) HTC ธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม
แอด Line มีของแจก ฟรี!!!
Line id : @MrStock
? Line : https://MrStock.me/line/
( คลิก ที่ลิ้งค์เพื่อแอดเพื่อนได้เลย)
Admin : Kamonwan